คนเหล่านั้นแสวงหาความสุข แต่กลับสร้างเหตุแห่งทุกข์ แล้วจะสุขได้อย่างไรกันหนอ…..
ชีวิตจะสุขได้ต้องรู้เท่ารู้ทัน รู้เท่ารู้ทันที่ว่านี้ ก็คือรู้ไตรลักษณ์ หรือเรียกอีกอย่างว่า สามัญลักษณะ คือลักษณะที่ทั่วไป หมายความว่ามีเหมือนกันทุกผู้ทุกนามทั่วสากลจักรวาล ไม่ใช่เฉพาะโลกนี้ หลัก 3 อย่างนั้น เป็นความจริงของชีวิตที่ไม่มีใครเลยที่จะฝืนได้ มีผู้ที่พยายามจะฝืนหลักนี้มากมาย แต่ก็ไม่มีใครสามารถฝืนหลักนี้ไปได้ แม้แต่พระพุทธเจ้าเองก็ยังไม่พ้นจากหลักความจริงอันนี้ หลักที่ว่านี้คือหลัก อนิจจัง ทุกข์ขัง อนัตตา นั่นเอง อนิจจัง คือความไม่เที่ยง ทุกข์ขัง คือ ความเป็นทุกข์ อนัตตา คือ ความเป็นของไม่ใช่ตัวตน นี้เป็นหลักสัจธรรม ถ้าเราเข้าถึงไตรลักษณ์อย่างแจ่มแจ้งแล้ว ก็จะบรรลุมรรคผลนิพพาน แต่ของเรายังไม่มุ่งถึงขนาดนั้นก็ได้ เอาแค่เข้าใจความเป็นจริงของชีวิต แล้วเราจะได้มีทุกข์น้อย ๆ ไม่ถึงกับว่าสิ้นทุกข์ แต่เมื่อยังทุกข์อยู่ก็ให้ทุกข์น้อย ๆ บางคนอย่าว่าแต่เข้าใจ กลับพยายามเปลี่ยนแปลงความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นว่า เที่ยงแท้ เป็นสุขและมีตัวตน ก็เลยมีทุกข์เยอะกันเต็มบ้าน เต็มเมือง ทีนี้ มาดูกันตามลำดับ
Ο ประการแรก อนิจจัง คือ ความเป็นของไม่เที่ยง อันนี้เราจะเห็นได้อย่างชัดเจน ถ้าเป็นผู้มีสติปัญญารู้จักคิดไตร่ตรองก็จะเห็นได้ ว่ามันเป็นสิ่งจริงแท้แน่นอน ถ้าพิจารณาหยาบ ๆ ก็คือ เกิดแล้วตาย ไม่มีใครเกิดแล้วไม่ตาย ไม่สามารถอยู่ชั่วนิรันดร์ได้ ถ้าพิจารณาอย่างกลางก็คือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ได้แก่ เกิดขึ้นในเบื้องต้น แปรปรวนไปในท่ามกลางและดับไปในที่สุด นี่เราก็จะเห็นได้อย่างที่ตัวเราเปลี่ยนแปลงจากเด็กทารกเป็นเด็กโต เป็นวัยรุ่น วัยหนุ่มสาว วัยกลางคน แก่ชราและก็ถึงสิ้นชีวิต ต้องเปลี่ยนแปลงไปไม่เที่ยงแท้ นี่เป็นอย่างกลาง ถ้าพิจารณาอย่างละเอียดก็คือว่า มันจะเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกขณะเวลา ในทางธรรมกล่าวไว้ว่าทุกขณะจิตไวมาก ไวยิ่งกว่าวินาที เป็นเศษเสี้ยวของวินาที ไม่มีอะไรที่อยู่คงที่ สิ่งที่เราเห็นเหมือนกับว่าคงที่ เช่น ก้อนหิน เหล็ก อะไรต่าง ๆ นั้น แท้จริงแล้วไม่ได้อยู่นิ่ง ถ้าอธิบายตามหลักวิทยาศาสตร์ก็จะเห็นได้ชัดเช่นกัน ซึ่งจริง ๆ พระพุทธเจ้าท่านก็รู้ ท่านก็ตรัสไว้เหมือนกัน แต่ท่านไม่ได้ใช้ศัพท์ทางวิทยาศาสตร์ ท่านใช้ศัพท์ภาษาบาลี พวกอะตอม พวกโมเลกุลนี้ พระพุทธเจ้าเคยตรัสไว้แล้ว เรื่องปรมาณูก็เคยตรัสไว้แล้ว แม้แต่ในอะตอมหนึ่ง ๆ ก็ยังประกอบด้วยโปรตรอน นิวตรอน อิเล็กตรอน อิเล็กตรอนก็วิ่งวนอยู่รอบ ๆ นิวเคลียส ซึ่งเป็นโปรตรอนกับนิวตรอน มันไม่เคยหยุดนิ่งมันวิ่งจี๋เคลื่อนที่อยู่ทุกขณะ นั่นแหละคือหลักอนิจจัง ร่างกายของเราก็เหมือนกัน ไม่เคยหยุดนิ่งเลย ในแต่ละเซลมันทำงานอยู่ตลอด อย่างเลือดนี่ก็ไหลเร็วมาก ถ้าขยายด้วยกล้องจุลทรรศน์ เราก็จะเห็นเลือดวิ่งจี๋เลยไม่ได้หยุดหย่อน คนเราเกิดและตายอยู่ทุกขณะ
ยกตัวอย่าง สมมติว่าตอนเราเกิดมาใหม่ ๆ มีคนมายืมจากแม่เรา ยืมไปอุ้มหน่อย อุ้มไปครู่เดียว แล้วเอาตัวโต ๆ อย่างตอนนี้ไปคืนให้แม่เรา แม่เราบอกว่าไม่ใช่ ไม่ใช่ลูกฉันแน่นอน หัวเด็ดตีนขาดยังไงก็ไม่ใช่ แต่เพราะกาลเวลาเปลี่ยนแปลงทีละนิดเติบโตสืบเนื่องมา เราจึงคิดว่าเป็นคนเดิม จริง ๆ แล้ว ถ้าว่ากันตามตรงเด็กคนนั้นได้ตายไปแล้ว เซลในสมัยนั้นแทบจะไม่เหลือแล้วนะ รูปร่างก็ต่างกัน น้ำหนักส่วนสูงก็เปลี่ยนแปลงไปเยอะ กายมันจึงไม่ใช่แล้ว รวมถึงจิตของเราก็เหมือนกัน มันไม่เคยหยุดนิ่ง มันก็เกิดดับสืบเนื่องทุกขณะเช่นกัน นี่คือความไม่เที่ยง ไม่มีใครที่จะข้ามพ้นได้ ถ้าเราเข้าใจหลักอันนี้ย่อมเห็นได้ว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา มันเป็นความเป็นจริงของธรรมชาติ อย่างเช่น เกิดผมหงอกขึ้นบนศีรษะ แปลกไหม ผิดธรรมชาติไหม ต้องไปเดือดร้อนกับมันไหม ถ้าเราอยากให้ดูดีจะย้อมก็ได้ก็ไม่เป็นไร แต่อย่าไปเดือดร้อน อย่าไปคิดมาก อย่าไปเป็นทุกข์อะไรกับมัน รับรู้มันตามความเป็นจริง แล้วแก้ไขเท่าที่จะทำได้ แค่นั้น ไม่ต้องทุกข์ ไม่ใช่เรื่องของเราที่จะต้องไปทุกข์กับมัน แค่รับรู้มันเฉย ๆ ยิ่งไปกว่านั้น จะเห็นได้ว่า ทั้งกายและจิตเกิดดับเร็วมาก นั่นคือ คนเราเกิดชาติใหม่ (ชาติ -ชาตะ หมายถึง การเกิด) ทุกขณะ ฉะนั้น คนที่เคยพลาดพลั้ง ทำผิดทำชั่ว อย่าไปมัวเสียใจว่า ชาตินี้เอาดีไม่ได้ ฉันเป็นคนชั่ว เป็นคนบาป โศกเศร้าตรอมตรมจมอยู่กับอดีตทั้งชีวิต รอแต่การเกิดใหม่รอโอกาสแก้ตัว ชาติหน้าหวังใจว่า ฉันจะตั้งใจเป็นคนดี หรือบางคนถึงขนาดต้องฆ่าตัวตาย อย่าเลย ! ขณะที่เข้าใจธรรมบรรยายนี้ คุณเกิดชาติใหม่แล้ว ขอเชิญมาร่วมกันทำความดีเดี๋ยวนี้เถิด คุณเกิดใหม่แล้ว จริง ๆ ! การเกิด(ชาติ) การตาย (มรณะ) มีทุกขณะ อย่างที่ท่านพุทธทาสกล่าวไว้ว่า “ไม่ต้องรอถึงชาติหน้าชาติไหน วันนี้เดี๋ยวนี้ ก็เกิดตายอยู่ทุกขณะเวลา”)….. อ่านต่อ
ที่มา : พระอาจารย์มหาคารม อุตฺตมปญฺโญ (นธ.เอก, ป.ธ.๔, พธ.บ., ศศ.บ., กศ.ม.) ผู้ก่อตั้งชมรมศิษย์สุวรรณโคมคำ(พ.ศ.2547) ผู้ก่อตั้งมูลนิธิสุวรรณโคมคำ(พ.ศ.2548) และสร้างทำธรรมสถานสุวรรณาภา. (พิมพ์ครั้งที่2 พ.ศ.2552). ธรรมะชนะชาตา. กรุงเทพฯ. อินเตอร์ พริ้นท์.