10 วิธีทำบุญได้ง่ายๆ

              ชีวิตคนไทย  ไม่เคยขาดเรื่องการทำบุญ  แต่มักเน้นที่การทำบุญด้วยวัตถุทานเป็นหลัก  ทำให้คนมีทรัพย์น้อยเกิดปมด้อยว่า  ฉันไม่มีเงินจึงทำบุญได้น้อย  แท้จริงแล้วไม่มีเงินสักบาทก็ทำบุญได้  ทำได้ง่ายๆ  ทำได้ทุกวันด้วย

              บุญนี้ทำได้มากมายหลายแบบ  ทางธรรมเรียกว่า  บุญกิริยาวัตถุ  แปลว่า  เรื่องของการทำบุญ  มี  10  วิธีใหญ่ๆ  อาตมาจะแสดงไปโดยลำดับ  ดังนี้

  1. ทานมัย บุญสำเร็จด้วยการให้ทาน  บุญข้อแรกเริ่มด้วยทาน  เรารู้จักกันดี  คือการให้  การแบ่งปัน  การเสียสละ  ฆราวาสเป็นผู้ต้องทำมาหากินแสวงหาปัจจัยเครื่องเลี้ยงชีวิตอยู่เป็นนิจ  ถ้าไม่ระมัดระวัง  จะทำให้อำนาจความโลภในวัตถุสิ่งของ  ทรัพย์สมบัติต่างๆ  เข้าครอบงำจิตใจได้โดยง่าย  เพราะฉะนั้น  เราจะต้องขจัดอำนาจครอบงำของวัตถุเหล่านั้นออกเสียก่อน  คือ  ขจัดความตระหนี่ออกไปจากใจให้ได้  เพราะว่าถ้าเราไม่ขจัดความตระหนี่ออกไปก่อนในเบื้องต้นนี้แล้ว  คุณธรรมอย่างอื่นจะเจริญขึ้นไม่ได้  เราจึงต้องบำเพ็ญทานเป็นขั้นแรก  เหมือนกับการปลูกข้าว เราต้องเตรียมดินเสียก่อน  ต้องไถนา  ต้องย่ำเทือกเพื่อเตรียมผืนนาให้พร้อมก่อนที่จะหว่านเมล็ดข้าวลงไป  ข้าวจึงจะงอกงามดี  คนพาลไม่ให้ทานเพราะกลัวจน  แต่บัณฑิตชนเพราะกลัวจนจึงให้ทาน  อยากได้ต้องให้  เพราะยิ่งให้ก็ยิ่งได้  ฉะนั้น  จะต้องเริ่มต้นที่การบำเพ็ญทานเสียก่อน  ด้วยเหตุนี้  คนไทยจึงทำทานกันมาก  ก็ไม่ผิดหรอก  แต่ไม่พอขอบอก!  เพราะมีบุญให้ทำอีกตั้งหลายชนิด  และทานก็ไม่ใช่มีแค่วัตถุทาน  ไม่จำเป็นต้องใช้เงินเยอะๆ  เป็นประธานทอดกฐินผ้าป่าเท่านั้นจึงจะได้บุญ  แม้ไม่มีเงินเลย  ก็ทำบุญได้  การให้โอกาส  มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่  มีความรัก  ความหวังดี  ความมีน้ำใจจริงใจให้แก่กัน  ก็เป็นทาน  เป็นการให้ด้วยเช่นกัน  ยิ่งไปกว่านั้น  ยังมีทานที่ยิ่งใหญ่  แต่ไม่ต้องลงทุน  อีกอย่างหนึ่ง  คือ  อภัยทาน  ครอบครัวใดบำเพ็ญทานประเภทที่ไม่ต้องใช้เงินให้มากเข้า  ก็มีความสุขได้ยิ่งกว่าครอบครัวเศรษฐีที่ทำบุญชนิดนี้ไม่เป็นเสียอีก  เพราะไม่ว่าเราจะทุกข์ยาก  ร้อนรนมาจากที่ใดก็ตาม  จะมีสถานที่สุดวิเศษแห่งหนึ่งของเรา  คือ  บ้าน  บ้านที่มีความรัก  ความเมตตา  หวังดี  จริงใจ  และการให้อภัยกัน  จะเป็นที่ที่เราใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างเป็นสุข  และพร้อมลุกกลับไปต่อสู้กับโลกที่ร้อนรนสับสนวุ่นวายอีกครั้ง  และเนื่องจากครอบครัวเป็นหน่วยสังคมพื้นฐาน  ที่ประกอบกันขึ้นเป็นประเทศชาติ  ถ้าหากครอบครัวเช่นนี้มีมากขึ้นๆ  จะทำให้ประเทศไทยเป็นบ้านที่แสนสุขของคนไทยทั้งชาติ  เป็นที่อิจฉาของนานาอารยประเทศว่า  แหม!  คนไทยนี้ช่างมีบุญจริงหนอ
  2. ศีลมัย บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล  คือ  มีชีวิตที่ไม่เบียดเบียนทำร้ายใคร  ไม่ทุจริตลักขโมยของใคร  ไม่แย่งของรักใคร  ไม่โกหกหลอกลวงใคร  ไม่ขาดสติ  ดำรงชีวิตอยู่อย่างไม่แปดเปื้อนด้วยบาป  นี้ก็เป็นบุญอย่างหนึ่ง  คนไทยบำเพ็ญบุญข้อแรกกันมากก็จริง  แต่ดูเอาเถิด!  บุญข้อสองให้ความสำคัญกันกี่มากน้อย  ทำได้ครบๆ  กันสักกี่คน  แล้วยังมาบ่นว่าคนไทยทำบุญตั้งเยอะไม่เห็นเจริญสักที  สู้ประเทศอื่นที่เขาไม่นับถือพุทธศาสนาก็ไม่ได้  ก็บุญมี 10 อย่าง  แต่ทำมากๆ  แค่อย่างแรก  อีก 9 อย่างบกพร่อง  ประเทศชาติจะเจริญมั่นคงได้อย่างไร?  บุญส่วนรวมของคนไทยมันบกพร่องมาก  ขอบอกตรงๆ  ศีลนั้นในทางโลก  หมายถึง  กฎกติกา  ระเบียบวินัย ทราบกันดีใช่ไหมว่า  คนไทยขาดวินัยกันมาก  ชอบทำอะไรตามใจ  ดูวินัยบนท้องถนนเป็นตัวอย่าง  อาตมาเคยนั่งแท็กซี่ไปทำธุระแล้วรถติดมาก  คนขับรถผิดกฎจราจรมีให้เห็นตลอดทาง  บางแห่งเพิ่มจากสองช่องจราจร  เป็นสามช่องกันเองโดยพลการ  ฝั่งตรงกันข้ามก็ถูกบีบจนเหลือช่องทางเดียวเป็นอย่างนี้ทุกวัน  ตำรวจจราจรก็ไม่รู้จะทำอย่างไร  อาตมาก็บอกว่า  ปัญหารถติดในกรุงเทพฯ นั้น  แก้กันไม่ตกสักที  ก็เพราะคนขาดวินัยบนท้องถนน  คนขับรถกล่าวว่า  ไม่ใช่หรอกครับ  ที่เป็นปัญหาโลกแตกกี่ยุคกี่สมัยก็แก้ไม่ได้นี้  เป็นเพราะคนไทยนิสัยไม่ดี  ชอบละเมิดกฎหมาย  ขาดระเบียบวินัย  เริ่มตั้งแต่วินัยที่บ้าน  ที่ทำงาน  แวดวงราชการ  ธุรกิจ  การเมือง ฯลฯ  แล้วรวมถึงมาแสดงออกให้เห็นบนท้องถนน  คนไทยเป็นอย่างไรดูได้จากท้องถนนนี่แหละครับ  ถ้าจะแก้ปัญหาจราจร  ก็ต้องแก้ที่ระเบียบวินัยของคนในชาติจึงจะถูก  เริ่มตั้งแต่ที่บ้านเลยครับ  อาตมาฟังแล้วชอบใจ  พบทางสว่างจริงของเขา!  ถึงที่หมายแล้วจึงจ่ายเงินค่ารถให้พิเศษ  เป็นการติดกัณฑ์เทศน์ขอบคุณที่ให้ปัญญา  เห็นไหม  บุญทำได้ไม่ยากเลย  ออกจากบ้านขับรถถูกกฎจราจรก็ได้บุญแล้ว  รักษาศีลแล้ว  ช่วยคนไทยชาติไทยแล้ว

  3. ภาวนามัย บุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนา  คือ  ทำจิตใจให้ผ่องใส  ทำใจให้สงบ  ภาวนา  หมายถึง  การทำให้เกิดมีขึ้น  เจริญขึ้น  เช่น  สวดมนต์ภาวนา  สมาธิภาวนา  เป็นการทำให้จิตใจสงบและเจริญขึ้น  ปัญญางอกงามขึ้น  ผู้ที่ศึกษาเล่าเรียนทางโลกก็จัดเป็นภาวนาด้วยเหมือนกัน  เพราะคำว่า  “การศึกษา”  หมายถึง  ความเจริญงอกงาม  ผู้มีการศึกษาจึงเป็นผู้เจริญ  เจริญด้วยปัญญาและจิตใจ  มีอารยธรรม  มีคุณธรรม  นักเรียนนักศึกษาที่เรียนรู้ฝึกฝนตนในแขนงวิชาต่างๆ  อย่างขยันขันแข็งและตั้งใจ  จนเชี่ยวชาญแตกฉานด้วยความรู้ที่คู่คุณธรรม  ได้ชื่อว่า  บำเพ็ญภาวนา  เป็นการฝึกฝนตนให้เจริญ  และสังคมที่มีบุคลากรเช่นนี้ย่อมเจริญรุดหน้า  มีความมั่นคงมั่งคั่งสงบสุข  การทำเช่นนี้  นับว่าเป็นบุญชนิดหนึ่ง  คือ  ภาวนามัย  แต่ถ้าได้เฉพาะความรู้  ได้แต่ใบปริญญา  แต่จิตใจไม่เจริญงอกงามขึ้นด้วย  นับว่าเป็นการศึกษาที่ล้มเหลว  ไม่ต่างอะไรไปจากคนไม่มีการศึกษา  และการศึกษาก็ไม่จำกัดแค่ต้องเข้าชั้นเรียน  ต้องได้ใบปริญญาเท่านั้น  เช่น  การรับฟังวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารจนเกิดปัญญา  การรู้จักคิดค้นคว้าพัฒนางานให้ดีขึ้น  ฯลฯ  ล้วนเป็นภาวนา  เป็นความเจริญ  ก็ได้บุญแล้ว  ทั้งส่วนตัวและส่วนรวม  เห็นไหมทุกเรื่องในชีวิตล้วนเป็นบุญได้ทั้งนั้นถ้ารู้จักทำ
                    บุญสามประการนี้ได้แก่  ทาน  ศีล  ภาวนา  ที่เราคุ้นหูกันอยู่แล้วนั่นเอง  จากนี้ไปมาดูบุญที่เรามักไม่ค่อยรู้จักกันตามลำดับ
  4. อปจายนมัย บุญสำเร็จด้วยการประพฤติถ่อมตน  คือ  ไม่กระด้าง  ไม่ถือตัว  ไม่ดื้อดึง  ไม่ว่านอนสอนยาก  คนเราส่วนใหญ่จะยึดถือตัวเอง  เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง  เอาตัวเองเป็นสำคัญ  ยึดความคิดเห็นของตัวเองเป็นใหญ่  ทำให้เกิดทิฏฐิมานะกันเป็นจำนวนมาก  ญาติโยมอาจจะคิดว่า  เอ๊ะ! การไม่กระด้างถือตัวนี้ก็เป็นบุญด้วยหรือ  อย่าคิดว่าง่าย  ไม่ใช่ทำกันได้ง่ายๆ  ดังกล่าวแล้วว่า  คนส่วนใหญ่ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง  คิดว่าตัวเองเก่ง  ตัวเองดี  ตัวเองเป็นที่หนึ่ง  ความเป็นจริงแล้ว  ไม่มีใครที่เก่งกว่าใครไปทุกอย่าง  บางอย่างเราก็เก่งกว่าเขา  บางอย่างเขาก็เก่งกว่าเรา  เราอย่ากระด้าง  ดื้อดึง  เราต้องเป็นคนสุภาพอ่อนน้อม  ประพฤติตนเป็นผู้ที่อ่อนน้อมต่อผู้หลักผู้ใหญ่  ต่อคนที่ควรเคารพกราบไหว้  นี่เป็นคุณธรรมอย่างหนึ่ง  เป็นความดีแล้ว  สังคมไทย  โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ขาดบุญข้อนี้กันมาก  เด็กจึงไม่น่ารัก  ไม่น่าส่งเสริม  เพราะเขาขาดบุญข้อนี้นี่เอง  เด็กเอ๋ย!  (รวมถึงผู้ใหญ่ด้วย)  ทำข้อนี้มากๆ  นะแล้วบุญจะช่วย  ไปที่ไหนจะมีแต่คนรักเอ็นดูส่งเสริม  เป็นคนมีบุญช่วยเสมอ
  5. ไวยยาวัจจมัย บุญสำเร็จด้วยการขวนขวายในกิจที่ชอบ  คือ  เป็นคนที่มีความขวนขวาย  ไม่นิ่งดูดาย  อยู่ที่ไหนไม่นิ่งเฉย  อยู่บ้านก็กวาดบ้าน  ถูบ้าน  ทำโน่นทำนี่  วันนี้จะไปตลาด  ถามว่าใครจะฝากซื้ออะไรไหม  ช่วยซื้อของมาก็ได้บุญแล้ว  เจอครูบาอาจารย์ยกมือไหว้ทักทาย  ถ้าท่านถือของมาพะรุงพะรังเราก็เข้าไปช่วย  เลิกงานออกจากห้องช่วยปิดแอร์  ปิดไฟ  ปิดประตูหน้าต่าง  ขวนขวายในกิจที่ชอบเป็นคนที่ไม่นิ่งดูดาย  พยายามทำตัวเองให้เป็นประโยชน์  เท่านี้ก็ได้บุญแล้ว  หาบุญใส่ตัวได้ง่ายๆ  ทุกที่ทุกเวลาเลยเห็นไหม
  6. ปัตติทานมัย บุญสำเร็จด้วยการให้ส่วนบุญ  คือ  เมื่อทำบุญ  ได้บุญแล้ว  ก็ให้ส่วนบุญอีกก็ได้บุญเพิ่มอีก  เพราะเป็นการให้  เป็นการสละอย่างหนึ่งเหมือนกัน  บางคนไม่เข้าใจคิดว่าอุตส่าห์ตื่นตี 4 ประกอบอาหาร  ทำภัตตาหารคอยใส่บาตร  เสร็จแล้วอุทิศให้คนอื่นเสียหมดแล้วตัวเองจะได้อะไร  มันไม่ใช่อย่างนั้น  เราทำบุญ ได้บุญแล้ว  เราอุทิศบุญแผ่ส่วนบุญให้ผู้อื่นเราก็ได้บุญอีก  ยิ่งได้บุญมากขึ้น  ได้บุญสองต่อ  เปรียบเหมือนมีเทียนอยู่เล่มหนึ่ง  เราจุดเทียนไว้เพื่อให้แสงสว่าง  คนอื่นมีเทียนเหมือนกัน  แต่ยังไม่ได้จุด  เขามาขอต่อเทียน  (จุดเทียน)  จากเรา  เราก็ให้เขาจุดต่อ  เทียนของเราก็ไม่ได้หายไปไหน  ยิ่งเราแบ่งให้คนอื่นจุดต่อไปมากเท่าไร  แสงสว่างก็ยิ่งมากขึ้นเป็นจำนวนเท่านั้น  ยิ่งให้ยิ่งได้  ฉะนั้นผู้ที่ฉลาดในการทำบุญ  ท่านทำบุญกุศลเสร็จแล้ว  ก็อุทิศส่วนบุญส่วนกุศลแผ่เมตตาให้แก่สรรพสัตว์  ก็ยิ่งได้บุญ  นี่เรียกว่าเป็นผู้ฉลาดในการทำบุญ
  7. ปัตตานุโมทนามัย บุญสำเร็จด้วยการอนุโมทนา  คือ  คนอื่นเขาทำความดี  คนอื่นมีความเจริญรุ่งเรือง  เราพลอยร่วมยินดีกับเขา  ยินดีในบุญที่เขาทำ  อนุโมทนา  แปลว่า  พลอยยินดี  เมื่อผู้อื่นมีความสุขความเจริญรุ่งเรือง  บำเพ็ญบุญกุศล  ทำความดีอะไร  เราพลอยยินดีไปกับเขาด้วย  ช่วยสนับสนุนได้ก็ช่วย  ไม่อิจฉาริษยา  อาจจะแปลกใจว่าเราไม่ได้เป็นคนทำสักหน่อยแค่พลอยยินดีได้บุญด้วยหรือ  ทำไมมันได้ง่ายอย่างนั้น  ไม่ใช่ง่ายนะ  บางคน  นอกจากบุญไม่ทำแล้วยังทำบาป  อย่างเช่น  เห็นคนอื่นใส่บาตร  ซุบซิบกันแล้วเนี่ย!  ดูสิทำเป็นใส่บาตร  ทำบุญ  จะให้เขาชมว่าเป็นคนใจบุญล่ะสิ  ทำบุญเอาหน้า  อย่างนั้นอย่างนี้  ตัวเองไม่ทำแล้วยังทำบาปอีก  ถ้าใจริษยาก็พลอยยินดีกับใครไม่ได้  นี่เห็นไหม  ถ้าเป็นผู้ที่มีจิตอกุศล  ไม่เป็นผู้ฉลาดในการทำบุญ  ก็สร้างบาปได้ทุกวันเหมือนกัน  แต่ถ้าฉลาดในการทำบุญก็สามารถทำบุญได้ทุกขณะ  เมื่อก่อนสมัยอาตมาเป็นนักเรียนมัธยม  นั่งรถเมล์ไปโรงเรียนแต่เช้า  หกโมงกว่าก็อนุโมทนา  สา…ธุ  ยินดีในบุญที่เขาทำ  อนุโมทนาในการทำบุญกุศลด้วยการตักบาตร  อาตมาก็ได้บุญแล้วทุกเช้า  อีกอย่างหนึ่ง  การอนุโมทนาเป็นการรับส่วนบุญที่ผู้ทำบุญเขาอุทิศให้  เราต้องอนุโมทนาจึงจะได้  ถ้าไม่อนุโมทนาก็ไม่ได้  เปรียบเหมือนมีคนให้ของเรา  เราไม่รับเราก็ไม่ได้  ทุกๆ เช้าประเทศไทยมีคนใส่บาตรทำบุญแล้วอุทิศส่วนกุศลกันมากมาย  ถ้าเราอนุโมทนาเราก็ได้บุญมาก  ถ้าไม่รู้จักอนุโมทนาก็ไม่ได้บุญสักนิด

  8. ธัมมัสวนมัย บุญสำเร็จด้วยการฟังธรรม  อย่างที่เขาอ่านธรรมะอยู่ตอนนี้  ก็เป็นบุญแล้ว  ประโยชน์ของการฟัง  มีหลายประการ  เช่น  ได้รู้ในสิ่งที่ยังไม่รู้  สิ่งที่รู้แล้วแต่ยังสงสัยย่อมทำให้แจ่มแจ้ง  ทำจิตให้สงบ  ดังนี้เป็นต้น  ฟังธรรมแล้วได้คติสอนใจ  ได้สิ่งที่เป็นสารประโยชน์  แต่ไม่จำเป็นจะต้องไปที่วัด  นั่งประนมมือฟังเป็นกิจจะลักษณะก็ได้  บางคนเป็นผู้ฉลาด  เปิดฟังรายการธรรมะหรือว่าเป็นเทปธรรมะก็ได้  เช้าขึ้นเปิดเลย  ทำกิจวัตรต่างๆ  เข้าห้องน้ำ  แต่งตัว  ทำโน่นทำนี่  เปิดให้ดังทั่วบ้าน  แต่ว่าพอให้ดังทั่วอยู่แต่ในบ้านนะ  ไม่ต้องเผื่อบ้านอื่นเดี๋ยวเขาจะรำคาญ  ทั้งสามี  ภรรยา  ลูกหลาน  ปู่ย่าตายายในบ้านได้ฟังหมดเลย  เช้าขึ้นได้ยินธรรมะ  ได้ยินสิ่งที่เป็นสาระประโยชน์  ได้ยินเรื่องดีๆ  ได้ยินคำที่เป็นกุศล ได้ยินทุกวัน  ถึงไม่ได้ตั้งใจฟัง  มันก็ต้องได้บ้างวันละนิดวันละหน่อย  ใกล้ชิดกับธรรมะ  ใกล้ชิดกับคุณงามความดี  ทำให้จิตใจอ่อนโยน  จิตใจใฝ่ธรรมน้อมนำไปในทางบุญกุศล  แต่ถ้าตื่นเช้าขึ้นมา  เอาแล้วขัดใจกันโน่นบ้าง  นี่บ้าง  พ่อแม่ทะเลาะกัน  ตายายก็เบื่อ  ลูกได้ยินก็เศร้าใจ  ข้าวปลาก็ไม่กินแล้ว  ไปกินที่โรงเรียนดีกว่า  ออกไปข้างนอกเลย  จิตใจขุ่นมัวแต่เช้า  มันก็ต่างกัน  แล้วจะมาบ่นว่า  โอ๊ย!  ลูกเดี๋ยวนี้มันไม่มีความกตัญญู  ลูกมันพร้อมที่จะทำให้พ่อแม่น้ำตาไหลได้ทุกขณะ  ก็ตัวเองไม่นำ  ไม่ทำตัวเป็นตัวอย่าง  ตัวเองไม่หาต้นแบบดีๆ  หาสิ่งดีๆ  มาให้ลูก  แล้วจะไปโทษใคร  มันต้องปลูกฝัง  ค่อยๆ ซึมเข้าไป  วันละนิดวันละหน่อย  ธรรมะคือธรรมชาติ  ธรรมะเป็นเรื่องใกล้ตัว  เป็นเรื่องของชีวิตประจำวัน  เราต้องนำธรรมะไปใช้สร้างโอกาส  ทำให้คนรอบข้างใกล้ชิดธรรมะ  เปิดฟังทุกวัน  บางคนขับรถไปบริษัท  ไปสอน  ไปทำงาน  ฯลฯ  เปิดฟังเลยตอนนี้แหละได้บุญแล้ว  ดีกว่าไปฟังเพลงฟังอะไรให้ใจขุ่นมัว
  9. ธัมมเทสนามัย บุญสำเร็จด้วยการแสดงธรรม  ไม่ใช่ว่าการแสดงธรรมเป็นเรื่องของพระเท่านั้น  ไม่จำเป็นต้องเป็นพระก็แสดงธรรมได้  พวกเราก็สามารถแสดงธรรม  แนะนำลูกหลานเพื่อนพ้อง  ญาติสนิทมิตรสหาย  ผู้ร่วมงาน  ผู้ใต้บังคับบัญชา  แนะให้เขาทำความดี  ละเว้นความชั่ว  นี่เป็นการแสดงธรรมแล้ว  หรือไม่ต้องให้ธรรมทานโดยตรงก็ได้  เรียกว่า  วิทยาทาน  คือ  ให้ความรู้เป็นทาน  แนะนำวิธีทำงาน  สอนทำกับข้าวช่วยแก้ปัญหาชีวิต  ฯลฯ  ก็ได้บุญแล้ว  การให้ธรรมะเป็นทาน  เป็นการให้ที่ได้บุญมากกว่าการให้ชนิดใดๆ  การให้ใดก็ไม่ยิ่งใหญ่และประเสริฐเท่าการให้ธรรมะ  อย่างอาตมาแสดงธรรมอยู่ขณะนี้  อาตมาก็ได้บุญ  โยมอ่านธรรมะโยมก็ได้บุญเหมือนกัน  ไม่ใช่มีได้ต้องมีเสีย  พุทธศาสนาสอนวิธีที่ได้ทุกฝ่าย  เจริญทุกฝ่าย
  10. ทิฏฐุชุกรรม การทำความเห็นให้ตรง  ธรรมะหมวดต่างๆ  เหมือนกับเป็นยาชุด  คือ  มีตัวยาหลายชนิดประกอบกัน  แต่ตัวยา  คือ  ธรรมโอสถ  ข้อที่สำคัญที่สุดมักไม่อยู่ประการแรกก็ประการสุดท้าย  บุญกิริยาวัตถุก็เหมือนกัน  ข้อที่สิบนี้สำคัญที่สุด  ทิฏฐุชุกรรม  ทำความเห็นให้ตรง  คือ  มีความเห็นถูกต้อง  หมายถึง  เชื่อว่าบุญมีจริง  บาปมีจริง  อย่างนี้เป็นต้น  มีความเห็นตรงตามสัจธรรม  คือ  ความจริงแท้  ถ้าไม่เชื่อสิ่งเหล่านี้  เห็นว่าไม่มีการเวียนเกิดเวียนตาย  ไม่มีบุญ  ไม่มีบาป  แล้วจะเป็นอย่างไร?  เขาก็ไม่ทำสิ่งที่เป็นบุญกุศล  ถ้าเขาเชื่อในเรื่องบาปบุญคุณโทษ  เขาก็จะทำคุณงามความดี  คนเราจะดำเนินชีวิตที่เป็นบุญหรือบาปเริ่มจากตรงนี้  มีตรงนี้เป็นพื้นฐาน  ถ้าเขามีความเห็นผิดเรียกว่า  มิจฉาทิฏฐิ  นี่เป็นบาปมาก  บาปที่สุดเลย  คือ  เมื่อใจมีความเห็นผิดแล้วก็เป็นพื้นฐาน  ให้ทำอะไรทุกอย่างออกจากตรงนี้  มันก็ผิดไปหมด  คิดผิด  พูดผิด  ทำผิด  บาปก็เกิดขึ้นมากมาย  ฉะนั้น  สิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องทำความเห็นให้ถูกต้อง  ทำความเห็นให้ตรงที่เราศึกษาธรรมะกันอยู่นี้ก็เพื่อทำความเห็นให้ตรงนี่แหละ

 

              คนไทยมักคิดว่าตัวเองรู้จักเรื่องของการทำบุญดีแล้ว  แต่ส่วนใหญ่รู้จักแค่ทานเท่านั้น  ทำกันแต่ในเรื่องทาน  ส่วนเรื่องศีล  เรื่องภาวนาไม่ค่อยได้ทำ  ยิ่งบุญข้อ 4  ถึงข้อ  10  ด้วยแล้ว  ยิ่งไม่รู้จักไม่ให้ความสำคัญกันนัก  ที่จริงแล้วบุญนี้ไม่จำเป็นต้องร่ำรวยมีเงินมีทอง  มีวัตถุสิ่งของจึงจะทำบุญได้  บุญนี้ทำได้หลายอย่างหลายทาง  อะไรที่เป็นความดี  ทุกอย่างที่เป็นความดีล้วนเป็นบุญทั้งสิ้น  ทำความดีนั่นแหละเป็นบุญ  ไม่จำเป็นต้องมาถึงวัด  ไม่จำเป็นต้องไปหาพระจึงจะทำบุญได้  นั่งอยู่ที่นี่ก็ทำได้  บุญนั้นทำได้  3  ทาง  คือ  ทางกาย  ทางวาจา  และทางใจ  บัดนี้เรามีพร้อมมาแล้วใช่ไหม  กายเราก็เอามา วาจาเราก็มี  ใจเราก็อยู่ตรงนี้  เอามาพร้อมหมดแล้ว  ทำบุญได้แล้ว  ขอให้เริ่มทำบุญกันให้ครบ  เพื่อชีวิตที่ครบสมบูรณ์

 

“น้ำหยดทีละหยดก็เต็มโอ่งใหญ่ได้  ฉันใด

บุญและบาปทีละน้อยค่อยสั่งสม

ก็เต็มได้ด้วยบุญและบาป  ฉันนั้น”

 

 

ที่มา : พระอาจารย์มหาคารม  อุตฺตมปญฺโญ (ป.ธ.๔, พธ.บ., ศศ.บ., กศ.ม.) ผู้ก่อตั้งชมรมศิษย์สุวรรณโคมคำ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิสุวรรณโคมคำ และสร้างทำธรรมสถานสุวรรณาภา. (พิมพ์ครั้งที่2 พ.ศ.2552). ธรรมะชนะชาตา. กรุงเทพฯ. อินเตอร์ พริ้นท์.