ย้อนกลับ …..
Ο ประการที่สอง ทุกขัง ได้แก่ ความเป็นทุกข์ ถ้าอธิบายแบบง่าย ๆ ก็คือ ความทุกข์กาย ทุกข์ใจที่เราได้รับ แต่ถ้าอธิบายโดยลึกซึ้งแล้วสิ่งไม่มีชีวิตก็เป็นทุกข์ได้ ความเป็นทุกข์นั้นหมายความว่าไม่สามารถจะคงสภาพเดิมได้ คือ เมื่อมันไม่เที่ยงแล้วมันก็เป็นทุกข์ มันต่อเนื่องกันอย่างนี้ ไม่อาจคงสภาพเดิมได้ เราไม่อาจเป็นหนุ่มเป็นสาวตลอดกาลได้ ไม่อาจมีความสุขตลอดกาลได้ ทุกอย่างต้องเปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอ อาการที่ถูกบีบคั้นโดยความเปลี่ยนแปลงไม่สามารถคงสภาพเดิมได้นี้ เรียกว่า ทุกข์ อย่างเช่น หนังสือก็มีการเกิด แก่ เจ็บ ตาย หนังสือที่เราพิมพ์ขึ้นมารวบรวมเป็นเล่มก็ถือว่าเกิดแล้ว ใช้ไปๆ ก็เริ่มเก่า ก็คือมันแก่ จากนั้นก็เริ่มฉีกขาดหลุดรุ่ย ก็คือเจ็บ สุดท้ายก็ตาย คือ สูญสลายไป พระเถรีท่านหนึ่งกล่าวไว้ว่า “ ทุกข์เท่านั้นที่เกิดขึ้น ทุกข์เท่านั้นที่ตั้งอยู่ ทุกข์เท่านั้นที่ดับไป” ความจริงแล้ว อาการที่สุขเกิดขึ้น มันเป็นเพียงอาการของทุกข์ที่น้อยลงเท่านั้นเอง เหมือนเราเดินกลางแดด อุณหภูมิ 40 องศาเซลเซียส พอไปถึงใต้ร่มไม้อุณหภูมิ 35 องศา เราก็ เอ้อ! ค่อยยังชั่ว รู้สึกเป็นความสุข จริง ๆ แล้วเป็นแค่อุณหภูมิที่ลดลงมาเท่านั้นเอง ที่จริงก็ยังร้อนอยู่ เพราะฉะนั้น อาการสุขคือทุกข์ที่น้อยลงเท่านั้นเอง คนส่วนใหญ่ปรารถนาความสุข แต่เขาไม่รู้ว่าความสุขที่แท้จริงคืออะไร สุขที่แท้จริงคือ การไม่ถูกกิเลสบีบคั้น คือว่างจากกิเลส อยากโน่นอยากนี่ แล้วได้สมปรารถนา มันก็ยังทุกข์ ทุกข์เพราะการแสวงหา ทุกข์เพราะการรักษา และทุกข์เพราะการเสียไปอยู่ดี สุขที่แท้จริงคือ สุขด้วยการว่างจากกิเลส มีคนถามหลวงพ่อรูปหนึ่งว่า “หลวงพ่อทำยังไงจึงจะไม่เป็นทุกข์” หลวงพ่อตอบว่า “ ก็อย่าไปสุขมันเลย” ตัวอย่างในสมัยพุทธกาลก็มี มีผู้หญิงพากันมาถือศีลในวันพระ นางวิสาขาก็ไปถามผู้หญิงที่มีอายุต่าง ๆ กัน ถามเด็กรุ่นสาวว่าทำไมมาถือศีลฟังธรรม สาว ๆ ก็บอกว่า อยากได้อานิสงส์จะได้แต่งงานไว ๆ มีสามีดี ๆ ไม่อยากขึ้นคาน พอไปถามผู้หญิงที่แต่งงานมีลูกแล้ว พวกเธอก็ตอบว่า เพราะอยากจะหลีกหนีจากภาระที่บ้าน เบื่อลูก เบื่อสามี เลยมาอยู่วัดซักวันค่อยยังชั่ว พอไปถามคนแก่ คนแก่ตอบว่า เมื่อตายแล้วอยากไปสวรรค์เลยมาถือศีลฟังธรรม นางวิสาขาไปทูลพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ก็ทรงตรัสว่า ในคนเหล่านี้ทั้งหมดเหมือนกับโคที่เขานำไปสู่โรงฆ่าสัตว์ แต่ละก้าวของมนุษย์ที่เดินไปนี้ นำไปใกล้ความตายทุกขณะ แต่ไม่มีใครเลยปรารถนาความสิ้นทุกข์ ไม่มีใครเลยที่ถือศีลฟังธรรมปฏิบัติธรรมด้วยความปรารถนาหมดกิเลส ปราศจากการเวียนว่ายตายเกิด ไม่มีเลย คนเหล่านั้นแสวงหาสุขที่เจือด้วยทุกข์
ในสังคมปัจจุบันก็เหมือนกัน มนุษย์ทั้งสิ้นล้วนแสวงหาสุขที่เจือด้วยทุกข์ คือ แสวงหาลาภ ยศ สรรเสริญ เช่น ความมั่นคงทางทรัพย์สิน ครอบครัวที่อบอุ่น ตำแหน่งหน้าที่การงาน วุฒิการศึกษาสูง ๆ ความนิยมยกย่องต่าง ๆ ฯลฯ แทบไม่มีใครเลยที่พยายามว่างจากกิเลส และถ้าแสวงหาโดยไม่เลือกวิธีการด้วยแล้วก็ยิ่งซ้ำร้าย คนเหล่านั้นแสวงหาความสุข แต่กลับสร้างเหตุแห่งทุกข์ แล้วจะสุขได้อย่างไรกันหนอ มนุษย์ที่น่าสงสาร จงปรารถนาความสิ้นกิเลสเถิด นั่นคือบรมสุขอย่างแท้จริง ….. อ่านต่อ
ที่มา : พระอาจารย์มหาคารม อุตฺตมปญฺโญ (นธ.เอก, ป.ธ.๔, พธ.บ., ศศ.บ., กศ.ม.) ผู้ก่อตั้งชมรมศิษย์สุวรรณโคมคำ(พ.ศ.2547) ผู้ก่อตั้งมูลนิธิสุวรรณโคมคำ(พ.ศ.2548) และสร้างทำธรรมสถานสุวรรณาภา. (พิมพ์ครั้งที่2 พ.ศ.2552). ธรรมะชนะชาตา. กรุงเทพฯ. อินเตอร์ พริ้นท์.