ชีวิตของมนุษย์ล้วนเป็นไปตาม “ดวง” เพราะใช้ชีวิตไปตามกุศลกรรม (บุญ) และอกุศลกรรม (บาป) เก่าที่ติดตัวมา และนิสัยเดิมที่สั่งสมมาหลายภพชาติ ซึ่งเรียกว่า จริต ประกอบด้วย
- ชอบเอียงไปในทางรักสวยรักงาม เรียกว่า ราคจริต
- ชอบเอียงไปในทางใจร้อนหุนหัน เรียกว่า โทสจริต
- ชอบเอียงไปในทางหลงลืม ซึมงง เรียกว่า โมหจริต
- ชอบเอียงไปในทางซาบซึ้ง ศรัทธา เรียกว่า สัทธาจริต
- ชอบเอียงไปในทางครุ่นคิด กังวล เรียกว่า วิตกจริต
- ชอบเอียงไปในทางพิจารณา เรียกว่า พุทธิจริต
ชีวิตมนุษย์ถูกกำหนดด้วยเคยชินดังกล่าวเป็นต้นนี้ ดังที่พระพุทธองค์ทรงสอนว่า “กัมมุนา วัตตตี โลโก – สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม” และทรงสอนไว้อีกว่า “กัมมัง สัตเต วิภชติ – กรรมย่อมจำแนกหมู่สัตว์ให้แตกต่างกัน” ฉะนั้น เราจึงต้องศึกษาเรื่องกรรมให้แจ่มแจ้ง แต่ไม่ใช่เพื่อปล่อยให้เป็นไปตามกรรมหรือยอมแพ้กรรม หากแต่เพื่อ “เอาชนะกรรม” ด้วยกุศลกรรมหลักพระพุทธศาสนา อันหมายถึงการเป็นคนเหนือดวง (เหนือวัฏฏสงสาร) การเคลื่อนไปแห่งกรรมของสัตว์นั้น เราสามารถกำหนดรู้ได้ด้วยการคำนวณตามหลักโหราศาสตร์สุวรรณโคมคำ (โหราศาสตร์แนวพุทธ) ซึ่งสามารถจะบอกให้รู้ถึงพฤติกรรมทางกาย วาจา และใจ ของบุคคลที่กระทำมาในอดีต ดำรงอยู่ในปัจจุบัน และจะรับผลกรรมอะไรในอนาคตได้อย่างแม่นยำ จะทำให้สามารถส่งเสริมหรือแก้ไขชาตาชีวิตได้โดยพิจารณาจากผลคำนวณที่ได้นั้น
ดังนั้น การจะเปลี่ยนแปลงดวงชาตาจึงต้องเปลี่ยนพฤติกรรมให้ได้ คือสร้างกุศลกรรมใหม่ให้แรงกว่าอกุศลกรรมเก่าที่ติดตัวมา จึงจะแก้ไขหรือเบี่ยงเบนชาตาชีวิตได้ เหมือนพระบรมครูสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นแบบอย่างอันยอดเยี่ยมของผู้กระทำพฤติกรรมทางกาย วาจา และใจที่สมบูรณ์ที่สุด ในการดำเนินชีวิตในแต่ละวัน เราจึงสมควรดูพระองค์เป็นแบบอย่างและใช้คำสอนของพระองค์เป็นกรอบในการดำเนินชีวิตที่ดี และแก้ไขพฤติกรรมที่ยังบกพร่องอยูให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จและความสุขอันเกษมจนถึงความพ้นทุกข์สืบไป
เมื่อกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงชาตาชีวิต สามารถกระทำได้หลายวิธี โดยวิธีแรกนั้น ต้องรู้เบื้องต้นก่อนว่า เรามีบุญกรรมอะไรมา แค่ไหน อย่างไร ซึ่งคำนวณรู้ได้ด้วยวิชาโหราศาสตร์สุวรรณโคมคำ (โหราศาสตร์แนวพุทธ ที่พยากรณ์ตามกฎแห่งกรรม แนะนำด้วยธรรมะ ชนะชาตาชีวิต) จากนั้นให้ลงมือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางกาย วาจา ใจ ดังที่กล่าวแล้ว แต่การจะทำได้ดังกล่าวนั้นต้องใช้ความตั้งใจ (ภาวะจิต) ที่เข้มแข็งประกอบด้วยถึงจะเห็นผลโดยไว ในทางพระพุทธศาสนาจึงใช้วิธีฝึกสมาธิจิตเข้าช่วย และในวิชาสุวรรณโคมคำใช้กสิณสมาธิเป็นกรรมฐานหลัก เพราะเป็นสมาธิที่มีกำลังแข็งแกร่งที่สุดกว่าทุกกรรมฐาน และเมื่อผู้ปฏิบัติฝึกจิตถึงขั้นที่สามารถย่อ ขยาย โยกย้าย เปลี่ยนแปลงดวงกสิณ (ควบคุมนิมิต) ได้อย่างคล่องแคล่วดังปรารถนา ก็จะสามารถเปลี่ยนแปลงดวงชาตาได้บางส่วน เรียกว่า “คนเหนือดวง” เพราะผู้ฝึกถึงขั้นนี้สามารถบังคับควบคุมจิตให้อยู่ในอำนาจและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ จึงสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตตนเองได้
ภาพจักรราศีที่เห็นอยู่นี้ เขียนตามหลักคัมภีร์สุวรรณโคมคำ เรียกว่า “กรรมจักร” หมายถึง การเคลื่อนไปของกรรม ซึ่งเป็นกระบวนการโดยละเอียดของ “สังสารวัฏฏ์” นั่นเอง หากจะกล่าวให้สั้นลงเพื่อทำความเข้าใจง่ายๆ ก็คือกระบวนการของ “กิเลส – กรรม – วิบาก” กิเลสเป็นเหตุจูงใจให้เกิดการกระทำ (กรรม) ทั้ง 3 ทาง แล้วส่งผลเป็นวิบาก (ผลของการกระทำ) และวิบากนี้เองก็วนกลับไปกระตุ้นให้เกิดกิเลสเป็นเหตุทำกรรมอีก… วนเวียนไปเช่นนี้มิรู้จักจบสิ้น จนเกิดเป็น “วัฏฏสงสาร” อันยาวไกลชั่วกาลนานจนกว่าบุคคลนั้นๆ จะพัฒนาตนให้หลุดพ้นจากกิเลสอันเป็นเหตุแห่งการเวียนว่ายตายเกิด คือบรรลุพระนิพพานในที่สุด
ในมนุษย์นั้นสามารถจำแนกบุคคลได้เป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ คือผู้ที่หนาแน่นด้วยกิเลส เรียกว่า ปุถุชน คือจำพวกบุคคลที่ดำเนินชีวิตไปตามอารมณ์ ความรู้สึก ความต้องการ (กิเลส) ฯลฯ ของตน โดยไม่เข้าใจโลกและชีวิต ไม่สนใจความถูก-ผิด ดี-ชั่ว เอาความรู้สึกความต้องการของตนเป็นที่ตั้งจนทำให้ชีวิตต่ำลงไปเรื่อยๆ ดังภาพ
ส่วนผู้ที่ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา เรียกว่า กัลยาณชน ซึ่งเป็นผู้ที่มีกิเลสบางเบาลง เพราะน้อมนำหลักสัจธรรมที่ใครครวญได้ด้วยกำลังสติปัญญาแห่งตนหรือศึกษามาจากหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนามาปฏิบัติขัดเกลากายกรรม วจีกรรม และมโนกรรมของตนจนสูงขึ้นตามลำดับ ดังภาพ
ดังนั้น การที่ชาวพุทธเราศึกษาเรื่องกรรมไม่ใช่เพื่อจะยอมแพ้กรรม แต่เพื่อเอาชนะกรรมต่างหาก เพราะกรรมเปรียบเหมือนต้นไม้ (ธรรมะคือธรรมชาติ) ต้นไม้นั้นสามารถนำมาตัดต่อ ติดตา เสียบยอดได้ ทำให้ออกผลนอกฤดูได้ ฯลฯ แต่ต้องรู้วิธี กรรมก็เช่นกันสามารถตัดต่อ เปลี่ยนแปลงและเลื่อนให้ช้าเร็วได้ ด้วยอำนาจจิตและด้วยพฤติกรรมที่แก้กัน (โดยตรวจดูจากผลคำนวณตามคัมภีร์สุวรรณโคมคำ) กล่าวให้ชัด คือ เมื่อสามารถเคลื่อนย้ายเปลี่ยนแปลงรูป (ปฐวีกสิณ เป็นต้น) ได้ ท่านย่อมเปลี่ยนแปลงรูปทั้งภายใน (ชาตาชีวิต) และรูปภายนอก (วัตถุและเหตุการณ์ต่างๆ) อันเกิดแต่กรรมได้เช่นกัน
ซึ่งเราสามารถกำหนดรู้ชาตาชีวิตอย่างกว้างๆ ได้ โดยดูจากนิมิตแห่งกรรม (กสิณนิมิต) ดังนี้
ดวงดี คือกำหนดกสิณแล้ว ดวงกสิณปรากฎชัดดีและมีลักษณะผุดผ่อง
ดวงไม่ดี คือกำหนดดวงกสิณแล้ว ปรากฎไม่ชัดเจน เช่น ดวงกสิณมีสีดำ เศร้าหมอง หรือไม่กลมชัด เป็นต้น
ดวงขึ้น คือกำหนดดวงกสิณแล้ว ดวงกสิณปรากฎลอยเด่นดังประสงค์อย่างชัดเจน
ดวงตก คือกำหนดดวงกสิณแล้วไม่ปรากฎ หรือปรากฎแต่กำหนดห้ลอยขึ้นจากที่ต่ำไม่ได้ เป็นต้น
และยังสามารถฝึกกสิณอื่นๆ สำหรับพัฒนาจิตตามลำดับโดยใช้จุติมาเป็นเกณฑ์ประกอบการพิจารณาในการเลือกเจริญกสิณตามที่ครูบาอาจารย์สุวรรณโคมคำได้แสดงผลการคำนวณธาตุไว้ว่า
ถ้าจุติเป็นพระ ๑ ธาตุไฟเด่น ให้เจริญเตโชกสิณ (ไฟมีเปลว)
ถ้าจุติเป็นพระ ๒ ธาตุน้ำเด่น ให้เจริญอาโปกสิณ (น้ำนิ่ง)
ถ้าจุติเป็นพระ ๓ ธาตุน้ำเด่น ให้เจริญอาโปกสิณ (น้ำไหล)
ถ้าจุติเป็นพระ ๔ ธาตุดินเด่น ให้เจริญปฐวีกสิณ (ดินชุ่มชื้น)
ถ้าจุติเป็นพระ ๕ ธาตุไฟเด่น ให้เจริญเตโชกสิณ (ไฟถ่านแดง)
ถ้าจุติเป็นพระ ๖ ธาตุลมเด่น ให้เจริญวาโยกสิณ (ลมพัดเย็นๆ)
ถ้าจุติเป็นพระ ๗ ธาตุดินเด่น ให้เจริญปฐวีกสิณ (ดินแห้งแข็ง)
(กสิณทั้งหมดนี้ ผู้ปฏิบัติจะฝึกได้ผลดีมีความก้าวหน้าก็ต่อเมื่อได้ผ่านการฝึกปฐวีกสิณมาก่อนแล้ว)
ที่มา : พระอาจารย์มหาคารม อุตฺตมปญฺโญ (ป.ธ.๔, พธ.บ., ศศ.บ., กศ.ม.) ผู้ก่อตั้งชมรมศิษย์สุวรรณโคมคำ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิสุวรรณโคมคำ และสร้างทำธรรมสถานสุวรรณาภา. (พิมพ์ครั้งที่2 พ.ศ.2552). ธรรมะชนะชาตา. กรุงเทพฯ. อินเตอร์ พริ้นท์.