คนไทยเราเมื่อพบหน้ากัน เราก็นิยมกล่าวคำสวัสดีกัน เมื่อกล่าวสวัสดีแล้ว ก็ยิ้มแย้มแจ่มใส ชื่นใจ เบิกบาน ร่าเริง มีไมตรีจิตต่อกัน เราเคยคิดบ้างไหมว่า คำว่าสวัสดีมีที่มาที่ไปอย่างไร ผู้บัญญัติศัพท์คำนี้เป็นครูเก่ามียศเป็นขุนนาง คือ พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ) บัญญัติขึ้นในราว พ.ศ. 2477 ใช้เพื่อทักทายกัน และท่านมอบคำนี้ให้นิสิตอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใช้ทักทายครูเมื่อพบครูครั้งแรกในวันนั้น ท่านผูกเป็นกลอนว่า
“ที่สุดครูฝากคำประจำชาติ ใช้เป็นพากย์ปราศรัยในทุกที่
ถ้าพบครูหรือใครไขวจี “สวัสดี” ปราศรัยทั่วไปเทอญ”
ต่อมาประมาณ พ.ศ.2484 สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี มีนโยบายนำประเทศไปสู่ความรุ่งเรืองให้ทัดเทียมนานาอารยประเทศ จึงบัญญัติจัดตั้งวัฒนธรรมในรูปแบบต่างๆ ขึ้น แม้คำทักทายก็ใช้คำที่แสดงถึงความมีวัฒนธรรม ฝรั่งเขากู๊ดมอร์นิ่ง กู๊ดไนท์ กู๊ดอะไรเยอะแยะ เราก็เอาบ้าง เราก็มีคำว่าสวัสดี เราจึงใช้กันจนแพร่หลายมาถึงทุกวันนี้ จริงๆ แล้วคำว่า “สวัสดี” มาจากภาษาบาลีว่า โสตถิ มีรากศัพท์มาจาก สุ บวกกับ อัตถิ ตามหลักไวยากรณ์บาลี พฤธิ อุ ที่สุ เป็นโอ แล้วแปลงโอ เป็น อว สำเร็จเป็น สว + อัตถิ = สวัตถิ = สวัสดี สุ แปลว่า ดี อัตถิ แปลว่า มีหรือมีอยู่ รวมแล้วก็แปลว่า มีดี พระท่านใช้คำว่าโสตถินี้ อวยพรให้กับญาติโยมมาตั้งแต่โบราณแล้ว
เรื่องมีอยู่ว่าสมัยก่อนพอพระท่านฉันเสร็จแล้ว ท่านก็หลีกไปโดยสงบ แต่นักบวชลัทธิอื่นบริโภคอาหารเสร็จ ก็กล่าวอวยชัยให้พรตามลัทธิของเขา ว่าอให้อย่าเดินตกหล่ม ขอให้อย่าเดินเหยียบหนามอะไรอย่างนี้ ชาวบ้านก็พูดกันว่า นักบวชลัทธิอื่นบริโภคอาหารแล้วยังอวยชัยให้พร แต่ทำไมลูกศิษย์พระสมณโคดมไม่พูดอะไรเลย พระพุทธเจ้าทรงทราบเข้าก็เลยตรัสอนุญาตว่า ภิกษุทั้งหลายเมื่อฉันภัตตาหารแล้วก็ให้อนุโมทนาได้ คือให้อวยพรแก่ญาติโยมได้ จึงเป็นเหตุให้พระท่านกล่าวอนุโมทนา สุดท้ายจะจบลงด้วยบทว่า ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง… ท่อนสุดท้ายของบทนี้ คือ สะทา โสตถี ภะวันตุ เต ฯ โสตถี ก็คือ โสตถินั่นเอง สะทา โสตถี ภะวันตุ เต จึงแปลว่า ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่านทั้งหลายในกาลทุกเมื่อ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า ผู้กล่าวก็ดี ผู้รับก็ดี โดยมากจะไม่รู้ความหมาย จึงแปลให้ฟังเสียในวันนี้และคงมีผู้สงสัยว่า คำว่าสวัสดี มันดีอย่างไร มันวิเศษอย่างไร ทำไมจึงใช้คำนี้มาเป็นคำสำหรับแสดงไมตรีจิตมิตรภาพต่อกัน คิดง่ายๆ สวัสดี แปลว่า มีดี ความดีนี่ใครๆ ก็ชอบ คนดีใครก็ชอบ ของดีใครก็ชอบ ถ้ามีใครมาบอกว่าเราไม่ดี เราจะชอบไหม? คงไม่มีใครชอบ จึงใช้คำนี้เป็นการแสดงไมตรีจิตมิตรภาพต่อกัน สังเกตให้ดีคำนี้มีองค์ประกอบ คือว่าไม่ใช่ดีเฉยๆ ไม่ใช่แค่อยากดี แต่ต้องมีดี การจะมีดีได้นั้นจะต้องทำขึ้นมา ทำให้เกิดมีดีขึ้นในตัว ทักทายกันว่ามีดี คือยังมีดีอยู่หรือเปล่า มีคุณงามความดีอะไรบ้างกับการเป็นมนุษย์ของเรานี้ นั่นคือ เป็นการเตือนจิตสะกิดใจให้สร้างคุณงามความดีให้เกิดมีขึ้นในตัวในแต่ละวัน เพราะในทางพระพุทธศาสนานี้ไม่มีคำว่าบังเอิญ ไม่มีการเกิดขึ้นลอยๆ ต้องทำถึงจะเกิดมีขึ้นได้ ความดีไม่มีขายอยากได้ต้องทำเอง สิ่งใดไม่มีเหตุไม่มีปัจจัยแม้จะอยากให้เกิดมันก็ไม่เกิด แต่เมื่อสิ่งใดมีเหตุมีปัจจัยพร้อมมูลแล้ว แม้ไม่อยากให้เกิดมันก็ต้องเกิด ที่เรียกว่า อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิดนั่นเอง ที่ว่าดีนั้น ในทางพระพุทธศาสนามี 3 ระดับใหญ่ๆ คือ หนึ่ง ดีเพราะไม่ชั่ว สอง ดีเพราะมีดี สาม ดีเพราะอยู่เหนือดีเหนือชั่ว
ขั้นแรก ดีเพราะไม่ชั่ว คือ งดเว้นจากการทำบาป ทำความผิด การไม่ทำชั่วนั้นเป็นความดี อย่างเช่น รักษาศีลตั้งแต่ศีลห้าเป็นต้นไป การไม่ทำความชั่วนี่เป็นความดีขั้นต้นแล้ว ความดีนั้นทำไม่ยาก ศีลห้านี้เป็นศีลขั้นพื้นฐานของมนุษย์
ศีลข้อที่ 1 ธรรมดาของมนุษย์จะไม่เข่นฆ่ารังแกกัน การทำร้ายเบียดเบียนกันนั้นเป็นพฤติกรรมของสัตว์เดรัจฉาน
ศีลข้อที่ 2 ธรรมดาของมนุษย์ไม่ทุจริตลักขโมยของกัน ถ้าลักขโมยแย่งชิงกันนั้นเป็นสัตว์
ศีลข้อที่ 3 ธรรมดาของมนุษย์รักและหวงแหนคู่ครองของตน แต่สัตว์ไม่รู้จัก สมสู่ไม่เลือกว่าเป็นพ่อแม่พี่น้อง
ศีลข้อที่ 4 ธรรมดาของมนุษย์ซื่อตรงไม่คดโกงไม่หลอกลวง แต่สัตว์นี้เป็นอย่างไร ที่เขาเรียกว่าสัตว์หน้าขนไว้ใจไม่ได้นั่นเอง
ศีลข้อที่ 5 ธรรมดาของมนุษย์มีสติ มีความสำนึก ถ้าขาดสติไม่รู้จักควบคุมสติ ไม่รู้จักข่มจิตข่มใจก็เป็นสัตว์
เพราะฉะนั้น ถ้าใครมีศีลห้าครบถ้วนถือว่ามีความเป็นมนุษย์ร้อยเปอร์เซ็นต์ บางคนบอกว่ารักษาศีลข้อเดียวได้ไหม ข้อเดียวก็มีความเป็นมนุษย์อยู่ยี่สิบเปอร์เซ็นต์ ที่เหลืออีกแปดสิบเป็นสัตว์ในร่างคน ตามหลักพระพุทธศาสนานั้นถ้าไม่มีศีลห้าจะไม่ได้เกิดเป็นมนุษย์ ที่เราเกิดมาเป็นมนุษย์ก็แสดงว่าเราเคยรักษาศีลห้ามาแล้ว ฉะนั้น เมื่อทำมาดีแล้วก็ขอให้รักษาต่อไปและบำเพ็ญให้ยิ่งๆ ขึ้นไปอีก ถือศีลแปด ศีลอุโบสถบ้างตามโอกาส อย่าให้ความดีลดลงนะ
ขั้นที่ 2 ดีเพราะมีดี ข้อแรกดีเพราะไม่ชั่ว คราวนี้ดีเพราะมีดี สูงขึ้นไปอีก มีดีคือประกอบคุณงามความดีต่างๆ เช่น บำเพ็ญทาน มีเมตตา มีหิริโอตตัปปะ มีความเพียร มีความอดทน มีความสามัคคี มีความเสียสละ ฯลฯ ก็คือ การมีคุณธรรมประการต่างๆ นั่นเอง จริงๆ แล้วมันคู่กัน ดีเพราะไม่ชั่วกับดีเพราะมีดีเป็นของคู่กันต่อเนื่องกัน เรียกรวมว่า มีศีลธรรม ศีลเป็นข้อห้าม ธรรมเป็นข้อควรปฏิบัติ เช่น ห้ามฆ่าสัตว์ ห้ามลักทรัพย์ ฯลฯ แล้วให้ทำอะไร เมื่อห้ามละเมิดเบญจศีลแล้วก็ให้ประกอบในเบญจธรรม มันจะคู่กัน เราคงทราบกันดีแล้ว ห้ามฆ่าสัตว์ คู่กับเมตตา ห้ามลักทรัพย์คู่กับมีสัมมาชีพ คือ อาชีพสุจริต ไม่ประพฤติผิดในกามคู่กับสำรวมในกาม ไม่พูดปดก็คู่กับพูดคำสัตย์จริง คำไพเราะอ่อนหวาน ประสานสามัคคี มีสารประโยชน์ ไม่ดื่มสุราก็คู่กับความมีสติ เบญจธรรมเหล่านี้เป็นคุณธรรม นี้เรียกว่าดีเพราะมีดี ที่สำคัญมันเป็นกุศโลบายอย่างหนึ่ง กาย วาจา ใจของมนุษย์เรานี้ต้องมีที่ยึดเหนี่ยว ต้องมีอะไรให้มันทำ ถ้าไม่หมั่นทำความดี จะพลาดพลั้งไปทำความชั่วเข้าจนได้
ขั้นที่ 3 คือ ดีเพราะอยู่เหนือดีเหนือชั่ว อันนี้สูงขึ้นมาอีก เป็นขั้นสูงสุด ถ้าเอียงไปทางชั่วก็ตกนรก ไปทางดีก็ขึ้นสวรรค์ ไม่ถึงนิพพาน ยังไม่พ้นทุกข์ ติดชั่วก็ไม่ได้ ติดดีก็ไม่ได้ ต้องทำดีแต่ไม่ติดดี เคยเห็นใช่ไหมคนทำดีแล้วมีทุกข์ ผมทำดีทุกอย่างเลย แต่ไม่เห็นมีใครมาร่วมสนับสนุน ทำไมใครๆ ต้องวิจารณ์ ต้องนินทา ทำไมผมพยายามทำเต็มที่แล้ว พอทำดีก็เสมอตัว แต่พอทำพลาดแล้วถูกเหยียบย่ำ อย่างนั้นอย่างนี้ พ้นทุกข์ไหม ไม่พ้น ติดดีก็ยังทุกข์อยู่ต้องเหนือดีเหนือชั่ว นอกเหตุเหนือผลจึงจะนอกเกิดเหนือตาย มีเจ้าอาวาสรูปหนึ่ง กำลังก่อสร้างศาลาอยู่ ญาติโยมมาถาม “ศาลาเสร็จรึยังครับหลวงพ่อ” ท่านตอบว่า “เสร็จแล้ว” โยมตอบว่า “เสร็จอะไรเห็นมีแต่เสาโด่เด่” หลวงพ่อตอบว่า “ก็เสร็จทุกวันนั่นแหละ เสร็จไปทีละนิดไง คือมีความสำเร็จเกิดขึ้นทุกวัน มีสุขได้ทุกวัน อย่าไปยึดว่าต้องเสร็จสมบูรณ์จึงจะเรียกว่าสำเร็จแล้ว จึงจะสุข มันเสร็จทุกวัน ดีทุกวัน มีความสุขได้ทุกวันทุกขั้นตอนของการทำงาน ไม่งั้นสร้างศาลาตั้ง 5 ปีกว่าจะเสร็จ ก็ต้องทุกข์ตลอด 5 ปีรึ พอสร้างเสร็จ ฉลอง 3 วัน 3 คืน สุขแค่ 3 วัน ทุกข์ตั้ง 5 ปี จากนั้นสร้างโบสถ์ต่ออีก ทุกข์อีกรึ”
ในเรื่องความดีนี้อยากจะฝากไว้อีกอย่างหนึ่งว่า แข่งกันดีได้ดีทุกคน แต่ถ้าแย่งกันดีไม่ได้ดีสักคน แข่งกันดี เช่น สมมติว่าเป็นนิสิตเรียนวิชาเอกคณิตศาสตร์ พออาจารย์ให้โจทย์มา ก็แข่งกันคิด ว่าใครจะคิดได้เร็วกว่า คิดได้ถูกต้องกว่า ปรากฏว่าทำให้คนที่แข่งต่างคนต่างคิดเลขเร็วทั้งนั้นเลย ได้ดีหมดเลย แต่ถ้าแย่งกันดีนี้เป็นอย่างไร เช่น ข้ามีข้อมูลข้าไม่แบ่งให้ใคร มีอะไรไม่บอกเก็บซ่อนไว้ อาจารย์ฝากบอกเพื่อนว่าอาทิตย์หน้าสอบเก็บคะแนนนะ ก็บอกเหมือนกันแต่บอกตอนเช้าวันสอบนั่นแหละ บอกว่าเดี๋ยวจะสอบย่อยคาบแรกนี้แล้วนะ แย่งกันดีขัดแข้งขัดขา สุดท้ายไม่ได้ดีสักคน ในแวดวงการทำงานก็เหมือนกัน ย้ำไว้เลย แข่งกันดีได้ดีทุกคน แต่ถ้าแย่งกันดีไม่ได้ดีสักคน นี่พูดถึงเรื่องสวัสดีจะได้มีความสวัสดี คือมีดีกันทั่วหน้าทุกผู้ทุกนาม
ที่จริงแล้ว หลัก 3 อย่างนี้ ก็คือ โอวาทปาฏิโมกข์ นั่นเอง ดีเพราะไม่ชั่ว ดีเพราะมีดี ดีเพราะอยู่เหนือดีเหนือชั่ว ก็คือละชั่ว ทำดี ทำใจให้บริสุทธิ์นั่นเอง เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ครูบาอาจารย์ท่านฉลาด ท่านนำหัวใจพระศาสนามาย้ำเตือนให้ได้ฉุกคิด ได้นำมาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ทำสิ่งลึกซึ้งสูงส่ง นำมาเป็นวิถีชีวิตคนไทยได้ง่ายๆ ถ้าเราเข้าใจเจตนาของโบราณบัณฑิต ต่างดำเนินทุกวันของชีวิตตามแนวทางนี้ สังคมจะดี ชีวีจะมีสุข เจริญทุกฝ่าย ได้ดีทุกคน ประเทศสงบสุข รุ่งเรืองรุดหน้า สมฉายาว่า “สยามเมืองยิ้ม” เพราะมีคำว่า “สวัสดี” ให้แก่กันทุกวัน
ที่มา : พระอาจารย์มหาคารม อุตฺตมปญฺโญ (ป.ธ.๔, พธ.บ., ศศ.บ., กศ.ม.) ผู้ก่อตั้งชมรมศิษย์สุวรรณโคมคำ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิสุวรรณโคมคำ และสร้างทำธรรมสถานสุวรรณาภา. (พิมพ์ครั้งที่2 พ.ศ.2552). ธรรมะชนะชาตา. กรุงเทพฯ. อินเตอร์ พริ้นท์.