คัมภีร์มหาจักรพรรดิราช ได้ถือกำเนิดมาแต่อดีตกาล ตั้งแต่สมัยพระพุทธเจ้าพระองค์แรก ซึ่งได้บัญญัติหรือลิขิตความเป็นมาของการเกิดแก่เจ็บตายของมนุษย์ด้วยศาสตร์แห่งนิมิตกรรม (สัญลักษณ์ดาว ฯลฯ) โดยแทนความหมายออกมาเป็นตัวเลข และยังมีการเพิ่มคำสอนในด้านธรรมะประกอบทุกขั้นตอน โดยภายหลังมีการลิขิตเพิ่มเติมตามประสบการณ์ ซึ่งผู้ลิขิตต่อมาส่วนมากเป็นเหล่าสาวกผู้ได้อภิญญาญาณ และคัมภีร์ฯนี้ถูกเก็บรักษาไว้ที่ดินแดนสุวรรณโคมคำ จึงได้อีกนามหนึ่งว่า “คัมภีร์สุวรรณโคมคำ” ตกทอดมาถึงท่านอัญญาโกณทัญญะ และท่านได้ฝากคัมภีร์นี้ไว้ที่ดินแดนสุวรรณโคมคำต่อมาพญานาคาธิบดีศรีสุทโธเป็นผู้ดูแลรักษาไว้เพื่อส่งมอบต่อผู้มีบุญโดยมีการสอนสั่งตามแนวทางของพระพุทธศาสนาทุกประการ
สัญลักษณ์ผู้สืบทอด
ปฐมาจารย์ฯ และพระลูกศิษย์ นั่งถ่ายรูปในวิหารสมเด็จลุน วัดเวินไซ แขวงจำปาศักดิ์ เมื่อครั้งไปสืบค้นประวัติบูรพาจารย์ที่ประเทศลาว
หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท
(บิดาของปฐมาจารย์ฯ เป็นคนอำเภอวัดสิงห์ เกิดในย่านตลาดวัดสิงห์ ไม่ไกลจากวัดปากคลองมะขามเฒ่า)
กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ศิษย์เอกของหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า
ปฐมาจารย์เกษตรเพชร…….ผู้สืบทอด
ทั้งนี้ในแต่ละยุคที่สำคัญๆ จะมีผู้มีบุญญาธิการลงมาอุบัติในฐานะ “ผู้สืบทอด” เพื่อฟื้นฟูสานต่อ คัมภีร์ฯ และเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้เป็นประโยชน์แก่มหาชนและสรรพชีวิตสืบไปกว้างไกลยั่งยืนนาน (ส่วนใหญ่ท่านผู้สืบทอดจะเป็นผู้บำเพ็ญโพธิสัตว์บารมีขั้นสูง)
ในการนี้จะมีบุคคลผู้ดำรงตำแหน่ง “พระธรรมบาล” ผู้ซึ่งเป็นที่ปรึกษาและคอยช่วยเหลือในสิ่งที่ผู้สืบทอดมีปัญหาขัดข้อง ท่านไม่ใช่ผู้สอนโดยตรง แต่ท่านเป็นผู้คอยช่วยเหลือดูแลผู้สืบทอด โดยผู้สืบทอดนี้ต้องเป็นผู้มีศีล ซึ่งส่วนมากจะเป็นพระสงฆ์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ อีกทั้ง “พระธรรมบาล” ก็เป็นผู้ทรงศีลบริสุทธิ์เช่นกัน คัมภีร์สุวรรณโคมคำมีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้นที่สืบทอดมาแต่อดีตกาลและแบ่งเป็นสามส่วนใหญ่ๆ ในการสอนดังนี้
1 ส่วนพยากรณ์ อันเป็นการพยากรณ์บุคคลด้วยการคำนวณนิมิตกรรม (สัญลักษณ์ดาว ฯลฯ) สามารถทำนายได้ทั้งจุติ ปฏิสนธิ กุศลฯ อกุศลฯ ของบุคคลที่ติดตัวมาตั้งแต่ภพชาติก่อนสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน และยังสามารถทำนายได้ทุกยามทุกเวลา สามารถปรับ “สมการสมดุลย์” พฤติกรรมกายและจิต ตามนิมิตกรรมได้ ซึ่งหลักพยากรณ์ของคัมภีร์ฯ นี้จะเกี่ยวข้องกับนิมิตกรรมและธาตุทั้งสี่ คือดินน้ำไฟลม ฯลฯ
2 ส่วนสมาธิจิต เป็นส่วนที่ให้ผู้ศึกษาฝึกสมาธิด้วยการกำหนดรู้ธาตุทั้งสี่ คือดินน้ำไฟลม ด้วยหลัก “กสิณกรรมฐาน” เมื่อผู้ฝึกสามารถฝึกถึงขั้นสูงของธาตุทั้งสี่ คือดินน้ำไฟลม ก็จะเกิดสมาธิจิตมีพลังสูงจนสามารถฝึกกสิณขั้นสูงขึ้น หรือเรียกอีกนามหนึ่งว่า “กสิณสมดุลย์ธาตุ” ฯลฯ ซึ่งจะสอดคล้องกับด้านพยากรณ์ด้วย
ในภาคของการวิวัฒนาการการเปิดสอนกสิณนั้น ปฐมาจารย์ฯท่านได้มีการเปิดสอนเป็นลำดับมาตั้งแต่เริ่มเผยแพร่วิชชาสุวรรณโคมคำเป็นต้นมาดังนี้ คือ
พ.ศ.2546 ปฐวีกสิณ ควบคู่โหราศาสตร์/การพยากรณ์
พ.ศ.2547 ปฐวีกสิณกรรมฐาน
พ.ศ.2549 อานุภาพกสิณ (และการบำบัด)
พ.ศ.2554 กสิณธาตุ 4
พ.ศ.2555 กสิณปฏิภาค (และการบำบัด)
พ.ศ.2556 กสิณสมดุลธาตุ , กสิณธาตุบารมี
พ.ศ.2557 กสิณสิเนรุจักร
พ.ศ.2559 พุทธกสิณฯ , ไตรรัตน์ฯ
พ.ศ.2560 กสิณวิปัสสนา
3 ส่วนธรรมะ แน่นอนว่าผู้ฝึกคัมภีร์นี้จะต้องศึกษาหลักธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อขัดเกลากิเลส มุ่งช่วยเหลือผู้คนและสรรพสัตว์ทั้งหลาย สอนสั่งชี้ให้เห็นบาปบุญคุณโทษ เพื่อความหลุดพ้น
ถึงแม้ปัจจุบันนี้ คัมภีร์สุวรรณโคมคำตกทอดเก่าแก่มากเป็นเวลาสองพันกว่าปี จนไม่สามารถจะเปิดอ่านหรือเรียนได้ แต่ผู้สืบทอดคัมภีร์สุวรรณโคมคำเพียงหนึ่งเดียวนี้ท่านไม่ได้ศึกษาและสั่งสอนอยู่แค่ส่วนที่ได้ร่ำเรียนมาจากครูบาอาจารย์เท่านั้น หากแต่ท่านได้ศึกษา ค้นคว้า ฝึกฝน พัฒนาเพิ่มเติมทั้งภาครูปและภาคนาม ต่อเนื่องมาอีกกว่าทศวรรษ จนถึงปัจจุบันนี้นับว่าเปิดมาถึงปีที่ 16 แล้ว วิชชาได้เพิ่มพูนล้ำหน้ากว่าที่ท่านได้สั่งสอนในครั้งแรกมากมายนัก ซึ่งสิ่งที่ท่านได้ศึกษาค้นคว้าฝึกฝนพัฒนามาจนถึงขั้นสูงยิ่งในระยหลังๆนั้น ท่านไม่ได้ทำเป็นตำราออกมา แต่มีการจัดคอร์สเปิดอบรมสั่งสอนกับศิษยานุศิษย์ที่ประพฤติดีอยู่ในพระธรรมคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่เบียดเบียน มีวิริยะ อุตสาหะ มุทิตาจิต อุเบกขาต่อสิ่งที่มากระทบจิต ทางด้านพยากรณ์ ท่านได้เพิ่มเติมขึ้นจนได้หลัก “สมการสมดุลย์” วิชชา16(โสฬสวิชชา) วิชชา18(วิชชามหาจักรพรรดิ์) ฯลฯ และไขข้อปัญหาค้างคาอันเป็นขีดจำกัดมาเนิ่นนานจนสำเร็จได้อีกด้วย อีกทั้งท่านได้สั่งสอนศิษย์ผู้ซึ่งมีกตัญญูต่อครูบาอาจารย์จนสำเร็จส่วนสมาธิจิต อานุภาพกสิณ กสิณปฏิภาคและการบำบัด รวมถึง “กสิณสมดุลย์ธาตุ” ฯลฯ ด้วยเช่นกัน
ส่วนทางด้านธรรมะนั้นมีผสมผสานอยู่ในทุกขั้นตอนของการฝึกฝนเรียนรู้บริบูรณ์ทั้งด้านปริยัติและปฏิบัติ ปฏิเวธ จนลูกศิษย์มีภูมิจิตภูมิธรรมที่ลึกล้ำในพุทธธรรมคำสอนในบวรพระพุทธศาสนาน่าชื่นใจ สมตามเจตนารมณ์ของการฟื้นฟูเผยแพร่คัมภีร์ฯ
อ่านบทความถัดไป : การได้มาซึ่งวิชชาสุวรรณโคมคำ ในยุคปัจจุบัน