กสิณลม เป็นเริ่มต้นโดยใช้ลมเป็นอารมณ์กรรมฐาน หากแต่ว่า เรามองไม่เห็นลม เพียงแต่สัมผัสได้ว่ามีลมผ่านมา เราจึงกำหนดเอาว่า ใบไม้สีเขียวที่โดนลมพัด ไม่รวมต้นไม้ที่มีดอก เพราะจะทำให้จิตได้ฟุ้งไปกับสีของดอกไม้ต่อไปได้ เราจึงให้เริ่มจากการมองดูภาพไหวที่เกิดกับใบไม้เป็นอารมณ์ เมื่อมองภาพแล้วหลับตา หรือลืมตาก็ตาม ท่านให้บริกรรม คำว่า วาโยกสิณังไปด้วย
เริ่มต้น ท่านหาต้นไม้มาสักต้นหนึ่ง จะเล็กหรือใหญ่ก็ตามที่ตนถนัด วางไว้ในที่เหมาะสมที่ท่านจะนั่งกรรมฐานตรงที่นั้นได้ ท่านให้ดูใบไม้ที่ไหวไปมาแล้วจับมาเป็นอารมณ์ ท่านที่เคยได้ฝึกฝนมาแต่อดีตกาล ก็จะปฏิบัติได้ง่าย ทั้งนี้ การเดินทางผ่านต้นไม้ที่ไหนก็ตาม ท่านก็เก็บภาพใบไม้ที่ไหวนั้นมาเป็นอารมณ์กรรมฐานได้ เมื่อท่านอยู่ในสถานที่ที่จะปฏิบัติกรรมฐาน ท่านให้นึกถึงใบไม้ที่ไหว ๆ นั้นเอง ภาพนิมิตคราวแรกอาจไม่เป็นภาพใบไม้ที่ไหว อาจเป็นเศษกระดาษปลิวไปตามพื้น หรืออาจเห็นได้ด้วยตาเนื้อเลยก็ได้เมื่อจิตเป็นสมาธิได้ดี บางท่านอาจเกิดอาการเคลื่อนไหวของร่างกาย ส่ายสะบัดไป กายลอยขึ้น ให้พยายามรักษาอารมณ์ของกสิณลมไว้ให้ดี เรียกว่าเตรียมใจไว้ก่อน
กสิณโทษ ภาพนิมิตที่เป็นต้นไม้ ไม่มีการเคลื่อนไหวนับเป็นกสิณโทษ การเห็นภาพอื่นใด หรือกสิณกองอื่นที่โผล่เข้ามา ไม่ว่าจะเป็นดิน น้ำ ไฟ หรือภาพพระ อะไรก็ตามให้ถือเป็นกสิณโทษ จิตท่านไปจับเข้าด้วยแล้วก็ทำลายกรรมฐานกสิณลมลงไป พึงระมัดระวัง